วันจันทร์ที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2553

บทเรียนโปรแกรม (Programmed Instruction)

บทเรียนโปรแกรม (Programmed Instruction)

ความหมายของ Programmed Instruction 

        Programmed Instruction มีชื่อเรียกแตกต่างกันออกไปหลายชื่อเป็นต้นว่า Programmed Learning, Auto – Instruction, Automated Instruction, Auto – Instruction Programming, Self–Teaching, Self Instruction Program และIndividual Tutoring เป็นต้น ไม่ว่า Programmed Instruction (บทเรียนโปรแกรม) จะมีชื่อเรียกอย่างไรก็ตาม แต่ลักษณะทั่ว ๆ ไปก็คล้ายคลึงกัน (กรองกาญจน์ อรุณรัตน์. 2536 : 1 และ (ร่วมศักดิ์ แก้วปลั่ง 2522:2) 

         Programmed Instruction คือ เครื่องมือทางการศึกษาชนิดหนึ่ง ที่สามารถทำให้ผู้เรียนได้รับประสบการณ์ที่จัดวางไว้เป็นลำดับขั้นตอน เป็นการจัดระบบการเรียนการสอนให้ผู้เรียนสามารถเรียนไปตามความสามารถของตนเองอย่างมีประสิทธิภาพ ในProgrammed Instructionนั้นจะเป็นการเรียนตามลำดับจากง่ายไปหายาก โดยจะประกอบด้วย เนื้อหา แบบฝึกหัด คำสั่ง คำเฉลย ตลอดจนการให้แรงจูงใจผู้เรียน สำหรับความหมายของคำว่า “Programmed Instruction” นั้น ได้มีนักเทคโนโลยีทางการศึกษาหลายท่านให้คำจำกัดความ ไว้ดังนี้

         กรองกาญจน์ อรุณรัตน์ (2536 : 1 – 2 ) กล่าวว่าProgrammed Instruction เป็นสิ่งที่สร้างขึ้น เพื่อให้ผู้เรียนได้เรียนด้วยตนเอง โดยแบ่งเนื้อหาและบทเรียนออกเป็นส่วนย่อยๆ สั้นๆ ซึ่งเรียกว่า กรอบ (Frame) แต่ละกรอบจะบรรจุคำอธิบายและคำถามที่ต่อเนื่องกันไป เริ่มจากระดับที่ง่ายมากแล้วยากขึ้นตามลำดับ หากเราต้องการที่จะเรียกอะไรว่าเป็น Programmed Instruction นั้น จะต้องพิจารณาว่าสิ่งดังกล่าว มีลักษณะที่สอดคล้องกับความหมายของคำว่า “Programmed” หรือไม่ ซึ่งคำว่า “Programmed” แท้จริงแล้วมีความหมาย 2 ประการ คือ
1. การวางแผนและการเตรียมวัสดุการเรียนการสอน (เนื้อหา) จะต้องเป็นระบบ
2. จะต้องมีการจัดวัสดุการเรียนการสอน (เนื้อหา) อย่างรอบคอบ

        กิดานันท์ มลิทอง (2535:70) กล่าวว่าการสอนแบบ Programmed Instruction มีพื้นฐานจากการนำหลักการเบื้องต้นทางด้านจิตวิทยาการเรียนรู้มาใช้ในการออกแบบซึ่งอาศัยพฤติกรรมการเรียนรู้ (Learning Behavior) ทฤษฎีการเสริมแรง(Reinforcement Theory) และทฤษฎีการวางเงื่อนไขเชิงปฏิบัติ (Operant Conditioning Theory) ซึ่งถือความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งเร้ากับการตอบสนองและการเสริมแรงเป็นสิ่งสำคัญ มีจุดมุ่งหมายเพื่อนำผู้เรียนไปสู่การเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งอาศัยการสอนที่วางโปรแกรมไว้ล่วงหน้า เป็นการให้ผู้เรียนมีโอกาสเรียนรู้ด้วยตนเองโดยได้รับผลย้อนกลับทันที และให้ผู้เรียนได้เรียนไปทีละขั้นตอนอย่างเหมาะสมตามความต้องการและความสามารถของตน

        เสาวณีย์ สิกขาบัณฑิต (2528:276) กล่าวว่า Programmed Instruction เป็นบทเรียนที่สำเร็จรูปในตัวเอง จัดประสบการณ์ให้กับผู้เรียนตามลำดับเป็นขั้นตอนหรือเป็นกรอบๆ (Frame) ตามลำดับ ผู้เรียนได้เรียนรู้ด้วยตัวเองและสามารถตรวจสอบความก้าวหน้าในการเรียนรู้ตามลำดับขั้นด้วยตนเอง ในเนื้อหาแต่ละกรอบจะมีคำถามเพื่อตรวจเช็คความเข้าใจในเนื้อหานั้น และมีคำตอบเฉลยไว้ให้ ถ้าผู้เรียนตอบผิดจะต้องอ่านเนื้อหาในกรอบนั้นใหม่ แล้วตอบคำถามอีกครั้งหนึ่ง เมื่อตอบถูกจึงจะเรียนกรอบต่อไปได้
เปรื่อง กุมุท (2527 : 2) กล่าวว่า Programmed Instruction เป็นการลำดับประสบการณ์ที่จัดวางไว้สำหรับนำผู้เรียนไปสู่ขีดความสามารถ โดยอาศัยหลักความสัมพันธ์ของสิ่งเร้าและการตอบสนองซึ่งได้พิสูจน์แล้วว่ามีประสิทธิภาพ
        ชม ภาคภูมิ (2524:116) กล่าว่า Programmed Instruction คือ ลักษณะหนึ่งของการเรียนการสอนรายบุคคลเหมือนกับเรียนกับครูที่ดีตัวต่อตัวอย่างหนึ่ง บทเรียนจะเสนอความรู้เป็นตอนๆ ทีละน้อย เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้ตอบสนองตลอดเวลา และมีการเสริมแรงให้ผู้เรียนอยากเรียนต่อไปด้วยการเฉลยคำตอบให้ทราบทุกครั้ง
        สนม ครุฑเมือง (2524:10-11) กล่าวว่า Programmed Instruction คือ บทเรียนที่สร้างขึ้นเพื่อให้เรียนรู้ได้ด้วยตนเอง มีการแบ่งเนื้อหาเป็นขั้นตอนและมีแบบฝึกหัด ผู้เรียนสามารถรู้ผลการเรียนด้วยตนเอง
        สันทัด ภิบาลสุข (2522: 51–52) สรุปว่า Programmed Instruction เป็นสื่อการสอนอย่างหนึ่งซึ่งได้จัดประสบการณ์ในการเรียนรู้ไว้อย่างมีระเบียบและเป็นไปตามลำดับขั้น ผู้เรียนสามารถเรียนได้ด้วยตนเอง และเรียนได้เร็วช้าตามความสามารถของแต่ละบุคคล โดยที่ผู้เรียนไม่ต้องเสียเวลารอคอยกัน ในการเรียนรู้จาก Programmed Instruction นั้นผู้เรียนต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของบทเรียนอย่างเคร่งครัด และด้วยความซื่อสัตย์
        วิททิช และคนอื่นๆ (Wittich and others.1962 อ้างอิงจาก สันทัด ภิบาลสุข 2522 : 51) กล่าวว่าProgrammed Instruction เป็นระบบการเสนอบทเรียนอย่างมีระเบียบทีละเล็กทีละน้อย บทเรียนแต่ละตอนจะมีเรื่องที่ให้ผู้เรียนเรียนรู้เรื่องใดเรื่องหนึ่งโดยเฉพาะ และจะมีปัญหาถามเกี่ยวกับเรื่องนั้นโดยตรงเพื่อให้ผู้เรียนตอบปัญหานั้น จากนั้นก็จะเฉลยคำตอบที่ถูกต้องProgrammed Instruction แต่ละตอนประกอบด้วยเนื้อหาที่ถูกแบ่งออกเป็นส่วนย่อยๆ เรียกว่า กรอบ (Frame) ซึ่งกรอบในลำดับต้นๆ จะเชื่อมโยงชักนำไปสู่กรอบต่อไปเสมอ
        กูด ( Good.1973 : 306 ) กล่าวว่า Programmed Instruction หมายถึง บทเรียนที่นำมาใช้ในรูปแบบของสมุดแบบฝึกหัด ตำราเรียนเครื่องกล หรือเครื่องประดิษฐ์ทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อช่วยให้ผู้เรียนได้บรรลุระดับการกระทำที่ระบุไว้ ดังนี้
1. เนื้อหาของบทเรียน ถูกจัดแบ่งออกเป็นขั้นตอนเล็ก ๆ
2. ในแต่ละระดับขั้นของบทเรียนจะมีคำถามอยู่หนึ่งคำถามหรือมากกว่าหนึ่งและจะกระทำให้ผู้เรียนได้รู้ผลทันทีทันใด แม้จะตอบคำถามถูกหรือผิดก็ตาม
3. เปิดโอกาสให้ผู้เรียนก้าวหน้าไปตามความสามารถของตนเอง ไม่ว่าจะเรียนแบบเอกัตบุคคล หรือเรียนเป็นกลุ่ม

        จากความหมายของProgrammed Instruction ที่กล่าวข้างต้นสรุปได้ว่า “Programmed Instruction” หมายถึง เทคนิคการให้การเรียนรู้อย่างหนึ่งที่ออกแบบเพื่อให้ผู้เรียนสามารถศึกษาบทเรียนด้วยตนเองตามความสามารถของตนเองโดยการนำเอาหลักการทางด้านจิตวิทยาการเรียนรู้ ทฤษฎีการเสริมแรง และทฤษฎีการวางเงื่อนไข เข้ามาร่วมใช้ประกอบกันในบทเรียน ดังนั้นเนื้อหาของบทเรียนจึงต้องแบ่งออกเป็นส่วนย่อยๆ และเรียงลำดับจากง่ายไปหายาก เพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ไปตามลำดับขั้นตอน มีการให้ข้อมูลย้อนกลับทันที เมื่อผู้เรียนตอบถูกหรือผิดก็มีการเสริมแรงและให้กำลังใจแก่ผู้เรียน ผู้เรียนสามารถรู้ผลการเรียนของตนเอง ทั้งนี้ ผู้เรียนต้องปฏิบัติตามคำแนะนำในบทเรียนอย่างเคร่งครัดและซื่อสัตย์

หลักการทางจิตวิทยาที่เป็นพื้นฐานของ Programmed Instruction

         Programmed Instruction เป็นบทเรียนสำเร็จรูปในตัวเองที่ผู้เรียนสามารถเรียนไปตามความสามารถของตนเอง โดยใช้หลักทางจิตวิทยาที่เป็นพื้นฐานของProgrammed Instruction คือ หลักจิตวิทยาของการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมจะเกิดขึ้นได้และดำรงอยู่ได้ด้วยขบวนการอย่างหนึ่ง เรียกว่า การวางเงื่อนไข ซึ่งถือเอาความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งเร้ากับการตอบสนองเป็นหลักที่ทำให้เกิดการเรียนรู้ขึ้น (เสาวณีย์ สิกขาบัณฑิต. 2528:276)

        Programmed Instruction เริ่มเป็นที่สนใจของคนทั่วไปในปี พ.ศ.2493 และมีผู้ให้ความสนใจมากขึ้นในปี พ.ศ. 2497 เมื่อสกินเนอร์ (B.F.Skinner) แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ได้เขียนบทความอธิบายการเรียนรู้ ซึ่งนำไปสู่การสร้างบทเรียนที่ใช้ชื่อว่า “ศาสตร์แห่งการเรียนรู้และศิลปการสอน” (The Science of Learning and the Art of Teaching ) สกินเนอร์ได้ประดิษฐ์และทดลองเครื่องช่วยสอนของเขาต่อมา และได้พิมพ์ผลงานค้นคว้าลงในวารสาร Science เมื่อปี 2500 ทำให้เทคนิคของ

         Programmed Instruction แพร่หลายไปทั่วสหรัฐอเมริกาและประเทศอื่นๆ ผลการค้นคว้าทดลองทำให้เขาได้รับการยกย่องว่า “เป็นผู้ให้กำเนิด Programmed Instruction แบบเส้นตรง” (สันทัด ภิบาลสุข. 2522:53) สกินเนอร์ (B.F. Skinner) เรียกทฤษฎีการเรียนรู้ของเขาว่าทฤษฎีการวางเงื่อนไขแบบจงใจกระทำ (Operant Conditioning Theory) ซึ่งเน้นการกระทำของผู้เรียนมากกว่าสิ่งเร้าที่ผู้สอนกำหนด กล่าวคือ เมื่อต้องการให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้จากสิ่งเร้าอย่างใดอย่างหนึ่งจะเปิดโอกาสให้ผู้เรียนเลือกแสดงพฤติกรรมด้วยตนเองโดยไม่บังคับหรือไม่บอกแนวทางการเรียนรู้ เมื่อผู้เรียนแสดงพฤติกรรมการเรียนรู้เองแล้วจึง “เสริมแรง” พฤติกรรมนั้น เพื่อให้ผู้เรียนได้รู้ว่าพฤติกรรมที่เขาแสดงนั้นเป็นพฤติกรรมที่ถูกหรือเป็นการแก้ปัญหาที่ถูกต้องนั่นเอง (กมลรัตน์ หล้าสุวงษ์. 2528:154) ซึ่งเป็นแนวทางในการสร้างบทเรียนแบบโปรแกรมของ สกินเนอร์ โดยมีหลักการ ดังนี้
1. วางเงื่อนไขให้ผู้เรียนตอบสนอง
2. คำตอบต้องให้ตรงกับคำถาม
3. ถ้าตอบถูกต้องจะต้องได้รับการเสริมแรง
4. คำถามมีลำดับจากง่ายไปหายาก (ชม ภูมิภาค. 2524:115-116)

        ประหยัด จิระวรพงศ์ (2522:225-226) กล่าวถึงหลักการและทฤษฎีทางจิตวิทยาที่นำไปสู่การสร้างและพัฒนา Programmed Instruction ดังนี้คือ
 1. ทฤษฎีการเรียนรู้แบบตอบสนอง (S-R Theory) หรือทฤษฎีการวางเงื่อนไขแบบการกระทำ (Operant Conditioning Theory) ได้แก่ การเรียนรู้จะต้องจัดบทเรียนอันเป็นสิ่งเร้าที่มีแรงเสริมอยู่ในตัว สิ่งเร้าที่มีการเสริมแรง ได้แก่ ความรู้หรือปัญหาที่ท้าทายความสนใจ คำตอบ รางวัล ต้องเป็นการเสริมแรงที่เป็นไปได้โดยทันท่วงทีมีการตอบสนองซึ่งหลักการและทฤษฎีนี้ สกินเนอร์เชื่อว่าสภาพการเรียนรู้จะเกิดขึ้นมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อสิ่งเร้าที่จัดไว้
2. ทฤษฎีการเสริมแรง (Reinforcement Theory) การเรียนรู้จะมีลักษณะของการกระทำ (ตอบสนอง) ต่อเนื่องกันไปทีละน้อยและค่อยๆสะสม การเสริมแรงทุกครั้งจะเพิ่มความเข้มข้นของการกระทำและความกระชับยิ่งขึ้น ทั้งนี้เพราะการเสริมแรงจะมีความสัมพันธ์ระหว่างการขับ (Drive) และรางวัล (Reward) ที่เป็นผลให้เกิดการตอบสนองความต้องการและความพอใจที่ได้รับผลจากความต้องการนั้น
3. ทฤษฎีการเรียนรู้ (Learning Theory) ของ ธอร์นไดค์ (Thorndike) เป็นทฤษฎีที่เป็นกฎของความพร้อม (Readiness) ผล (Effect) และการฝึกฝน (Exercise) ซึ่งความสัมพันธ์ของกฎทั้งสามสามารถนำมาประยุกต์ในการเรียนการสอนได้มาก

        สุนันท์ ปัทมาคม (2530:24) กล่าวว่า ทฤษฎีทางจิตวิทยาของ ธอร์นไดค์ (Edward D.Thorndike ) ที่นำมาสร้างบทเรียนแบบโปรแกรมมี 3 ประการ คือ
1. กฎแห่งผล (Law of Effect) คือ การเชื่อมโยงระหว่างสิ่งเร้า (Stimulus) กับการตอบสนอง (Response) ทั้งสองสิ่งนี้เชื่อมโยงกันได้ถ้าทำให้เกิดสภาพที่น่าพอใจ คือ ทำให้ผู้เรียนพอใจว่าการตอบสนองนั้นแสดงออกมาอย่างถูกต้อง สถานการณ์จะเกิดขึ้นได้เมื่อให้แรงจูงใจ (Reinforcement) หรือรางวัล (Reward)
2. กฎแห่งการฝึกหัด (Law of Exercise) คือ การกระทำใดๆ ถ้าทำซ้ำในเรื่องเดียวกันจะทำให้เกิดความชำนาญ
3. กฎแห่งความพร้อม (Law of Readiness) คือ การเน้นความสำคัญของความตั้งใจและการจูงใจในการเรียนรู้ เช่น การเตรียมตัวผู้เรียน การเตรียมบทเรียน เป็นต้น

        จึงกล่าวได้ว่า Programmed Instructionสร้างขึ้นโดยนำหลักการพื้นฐานทางจิตวิทยามาใช้ประกอบซึ่งทำให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ได้ดีขึ้น Programmed Instructionจึงมีลักษณะเด่นในการกระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ที่ดีขึ้น เช่น ผู้เรียนได้เรียนรู้ตามความสามารถของตนเอง รวมทั้งได้รับการเสริมแรงและให้กำลังใจอยู่ตลอดเวลา



หลักการสำคัญของการจัดการเรียนรู้โดยใช้ Programmed Instruction

        การจัดการเรียนรู้แบบ Programmed Instruction มีหลักการสำคัญ 4 ประการ คือ
1. Active Participation ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการเรียนรู้อันเกิดจากการเสริมแรงจากการทราบคำตอบ
2. Immediate Feedback มีการให้ข้อมูลย้อนกลับทันทีภายหลังจากที่ผู้เรียนทำกิจกรรมตอบสนองสิ่งเร้านั้นๆ
3. Successful Experience ได้รับประสบการณ์การเรียนรู้ตามลำดับขั้นทีละน้อยและรู้ผลทันทีที่ตอบคำถาม
4. Gradual Approximation มีการจัดบทเรียนอย่างเป็นระบบ

        ลักษณะของ Programmed Instruction
        กรองกาญจน์ อรุณรัตน์ (2536:3–4) กล่าวว่า Programmed Instruction มีคุณลักษณะ ที่เป็นสื่อพร้อมที่จะใช้เรียนรู้ และสามารถนำ Programmed Instruction ไปใช้ซ้ำแล้วซ้ำอีกได้ โดยที่ผลการเรียนรู้ที่ได้จะยังคงเดิม Programmed Instructionอาจมีทั้งสื่อที่เป็นสิ่งพิมพ์และสื่อที่ไม่ใช้สิ่งพิมพ์ หรืออาจจะเป็นสื่อทั้งสองประเภทรวมกัน โดยมีหลักในการสร้างดังนี้
1. ผู้เรียนสามารถปฏิบัติกิจกรรมการเรียนรู้ด้วยตนเอง โดยไม่ต้องอาศัยความช่วยเหลือจากผู้สอนบ่อยๆ เพราะใน Programmed Instruction ผู้เรียนสามารถกระทำสิ่งต่าง ๆ ได้ด้วยตัวเอง ดังนั้นผู้เรียนจึงสามารถเรียนตามอัตราความสามารถของผู้เรียนแต่ละคน
2. มีการตั้งคำถามหรือปัญหาเฉพาะที่ถามขึ้นในบทเรียน เพื่อต้องการให้ผู้เรียนตอบแบบเปิดเผย และผู้เรียนต้องตอบสนองต่อคำถามดังกล่าวบ่อยๆ ในขณะที่กำลังศึกษา Programmed Instruction นั้นอยู่
3. เมื่อผู้เรียนตอบคำถามใน Programmed Instruction ผู้เรียนจะได้ทราบข้อมูลที่เป็นคำตอบอันจะทำให้ผู้เรียนมีข้อมูลอย่างเพียงพอในการพิจารณาตัดสินได้ว่าสิ่งที่เขาตอบนั้นผิดหรือถูกเพียงใด
4. มีการนำเสนอเนื้อหาที่เป็นลำดับขั้น และมีระบบทำให้เกิดหน่วยการเรียน (Frames) ในลักษณะของ Programmed Instruction ชนิดเส้นตรงและแตกกิ่ง เพื่อควบคุมพฤติกรรมของผู้เรียนในการตอบสนองภายใน Programmed Instruction

        เปรื่อง กุมุท (2527:4) กล่าวถึง คุณลักษณะของ Programmed Instruction ว่ายึดหลักการสำคัญของหลักการสอนที่ดี 4 ประการ คือ
1. ให้ผู้เรียนตอบสนอง ( ทำกิจกรรม ตอบคำถาม ) อยู่ตลอดเวลา
2. ให้ผู้เรียนทราบผลการตอบสนองหรือทำกิจกรรมทันที
3. มีการเสริมแรงและให้กำลังใจในการเรียน (ชมเชย ให้กำลังใจ)
4. เกิดการเรียนรู้เป็นขึ้นตอนตามลำดับตั้งแต่ง่ายไปหายาก

        วาสนา ชาวหา (2522:23-24) กล่าวถึงคุณลักษณะของบทเรียนแบบโปรแกรม ดังนี้
1. การแบ่งขั้นการเรียนรู้เป็นหน่วยย่อยๆ (Gradual Approximation) คือ การจัดความรู้หรือเนื้อหาวิชาให้ผู้เรียนได้เรียนไปทีละขั้นทีละตอน และแต่ละขั้นย่อยๆ นั้น ได้มีการลำดับจากสิ่งที่ง่ายไปหาสิ่งที่ยากไปทีละน้อยๆ อย่างต่อเนื่องกัน ไม่สับสนและไม่เป็นการยัดเยียดความรู้ให้แก่ผู้เรียน
2. เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้มีส่วนร่วมในการเรียนรู้อย่างกระตือรือร้น ( Active –Participation) โดยการกระทำด้วยตนเอง อาจจะจัดในรูปการซักถามเพื่อให้ผู้เรียนได้ตอบคำถามการทดสอบ การอภิปราย หรือวิธีการใดๆที่เปิดโอกาสให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในกิจกรรมและเป็นไปได้อย่างทั่วถึงทุกคน
3. ผู้เรียนได้ทราบผลการเรียนของตนทันที (Immediate Feedback)
4. ผู้เรียนประสบผลสำเร็จเป็นระยะๆ (Successful Experience) เนื่องจากการแบ่งขั้นการเรียนออกเป็นหน่วยย่อยให้ง่ายต่อการเข้าใจ และยังแจ้งผลการตอบสนองของการเรียนรู้ในทันที จึงทำให้ผู้เรียนได้รับความพอใจในความสำเร็จของตน เสมือนเป็นการให้รางวัล

        สุนันท์ ปัทมาคม (2530:12) กล่าวถึงคุณลักษณะของProgrammed Instructionดังนี้
1. เป็นขั้นความรู้ย่อยๆ ที่เรียงลำดับไว้ สำหรับเป็นสิ่งเร้าความสนใจของผู้เรียน
2. ผู้เรียนตอบความรู้แต่ละข้อตามวิธีการที่กำหนดให้
3. การตอบของผู้เรียนจะได้รับการเสริมแรงโดยการให้ทราบผลทันที
4. ผู้เรียนค่อยๆ เรียน เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เป็นการก้าวจากสิ่งที่รู้แล้วไปสู่ความรู้ใหม่ที่บทเรียนแบบโปรแกรมเตรียมไว้ให้
5. ผู้เรียนมีโอกาสเรียนด้วยตนเอง โดยที่ใช้เวลาในบทเรียนหนึ่ง ๆ จะมากน้อยเพียงใด ขึ้นอยู่กับสติปัญญาและความสามารถของผู้เรียนแต่ละคน

        จาโคบ (Jacob. 1966: 1) อธิบายคุณลักษณะของ Programmed Instruction 5 ประการ คือ
1. เป็นความรู้ย่อยที่เรียงลำดับไว้สำหรับเป็นสิ่งเร้าความสนใจของผู้เรียน
2. ผู้เรียนตอบสนองความรู้แต่ละข้อตามที่กำหนดไว้
3. การตอบสนองของผู้เรียนจะได้รับการเสริมแรงและทราบผลทันที

ประเภทของProgrammed Instruction

        Programmed Instructionจำแนกได้หลายประเภท

        สันทัด ภิบาลสุข (2522: 56) แบ่งประเภทของ Programmed Instruction ออกได้ ดังนี้
     1. แบ่งตามวิธีการที่จะเสนอผู้เรียน แบ่งได้เป็น 2 ชนิด คือ
1.1 Programmed Instruction ที่ใช้กับเครื่องช่วยสอน (Teaching Machine)
1.2 Programmed Instruction ที่อยู่ในรูปของตัวหนังสือ (Programmed Textbook)

     2. แบ่งตามประเภทของการตอบสนอง แบ่งได้เป็นสองชนิด คือ
2.1 แบบที่ผู้เรียนสร้างคำตอบเอง (Constructed Response)
2.2 แบบที่มีคำตอบให้เลือก (Multiple Choice)

     3. แบ่งตามเทคนิคการเขียนบทเรียนและลักษณะการตอบสนองของผู้เรียน แบ่งได้เป็น 2 ชนิด คือ
3.1 Programmed Instruction แบบเส้นตรง (Linear Programmed)
3.2 Programmed Instruction แบบสาขา (Branching Programmed or Intrinsic Programmed)

     สุนันท์ ปัทมาคม. (2530 : 48) แบ่ง Programmed Instruction เป็น 2 ประเภท คือ
1. Programmed Instruction แบบเส้นตรง (Linear Programmed)
2. Programmed Instruction แบบสาขา (Branching Programmed or Intrinsic Programmed)

Programmed Instructionแบบเส้นตรง ( Linear Programmed )
        Programmed Instructionแบบเส้นตรง สร้างขึ้นตามทฤษฎีของ สกินเนอร์ (B.F.Skinner) ซึ่ง ฟราย (Fry. 1963 อ้างอิงจาก เสาวนีย์ สิกขาบัณฑิต.2528 : 278) ได้กล่าวถึงProgrammed Instructionประเภทนี้ว่ามีลักษณะ ดังนี้
1. แบ่งเนื้อหาออกเป็นหน่วยย่อย ๆ โดยเฉลี่ยความยาวประมาณ 2 ประโยค
2. กระตุ้นให้ผู้เรียนตอบสนองโดยตั้งคำถามให้ผู้เรียนตอบเกี่ยวกับเนื้อหาที่เรียนไปแล้ว การใช้หน่วยย่อยๆ ในการเสนอบทเรียนที่ผู้เรียนเข้าใจง่าย และเป็นไปตามลำดับขั้น
3. การจัดเนื้อหาเรียงลำดับและนำเสนอเป็นตอนๆ เมื่อผู้เรียนตอบถูกก็จะเรียนในกรอบต่อไป

        ไชยยศ เรืองสุวรรณ ( 2521 : 170 ) กล่าวถึงลักษณะ Programmed Instruction เส้นตรงว่ามีลักษณะที่สำคัญ 3 ประการ
1. เป็นบทเรียนที่ตั้งอยู่บนรากฐานของทฤษฎีการเรียนรู้ และการเสริมแรง และเน้นในเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างขั้นต่อขั้น
2. เป็นแบบที่นิยมสร้างรูปแบบของการตอบสนองโดยการกำหนดให้
3. รูปแบบของการเรียนจะต่อเนื่องกันซึ่งผู้เรียนจะต้องติดตามทุกขั้นตอน และทุกเฟรม (Frame)

         เสาวณีย์ สิกขาบัณฑิต. ( 2528 : 278 – 279 ) กล่าวว่า    Programmed Instruction นั้นสามารถนำเสนอได้เป็น 3 ลักษณะ ดังนี้
1. Programmed Instruction เส้นตรงแบบเรียงลำดับ (Straight Forward Linear Program) เป็นProgrammed Instruction ที่เรียงข้อไปในหน้าเดียวกัน คำตอบอาจจะอยู่ตรงกับข้อที่ผู้เรียนต้องตอบหรืออาจจะอยู่ในข้อถัดไปก็ได้ และอยู่ด้านซ้ายหรือด้านขวาของเนื้อหาก็ได้
2. Programmed Instruction เส้นตรงแบบซับซ้อน ( Complex Linear Program ) แบบนี้จะแบ่งแต่ละหน้าออกเป็น 3 หรือ 4 ส่วน ข้อที่ 1 จะอยู่ส่วนบนของหน้าแรก ข้อที่ 2 จะอยู่ส่วนบนของหน้า 2 และมีคำตอบข้อที่ 1 ไว้ตอนหน้าหรือส่วนท้ายของข้อที่ 2 ดำเนินเช่นนี้จนจบ
3. Programmed Instruction เส้นตรงแบบพลิกกลับเล่ม (Upside Down Linear Program)
แบบนี้จะให้ผู้เรียนเริ่มเรียนหน้าขวามือตลอดเล่ม ส่วนหน้าซ้ายมือเป็นกรอบที่พิมพ์หัวกลับเพื่อให้ผู้เรียนที่เรียนหน้าขวามือตลอดเล่มแล้วได้กลับหัวบทเรียนเพื่อเรียนทางหน้าซ้ายมือจนตลอดเล่ม

        พรรณี ช. เจนจิต ( 2538 :313 –134 ) กล่าวว่า Programmed Instruction แบบเส้นตรงมีพื้นฐานอยู่ที่การจัดเนื้อหาที่จะให้เรียนเพื่อที่จะให้ผู้เรียนตอบถูก ดังนั้นบทเรียนประเภทนี้ผู้เรียนจะต้องเป็นผู้คิดหาคำตอบเอง โดยที่สร้างขึ้นเพื่อให้ผู้เรียนตอบถูกมากที่สุด ซึ่งมีลักษณะ ดังนี้
1. บทเรียนแต่ละชุดประกอบด้วยหลายๆ กรอบ แต่ละกรอบจะมีเรื่องที่จะให้เรียนทีละนิด (Small Step) ติดต่อเชื่อมโยงกันไปตลอด การให้ข้อมูลที่ละนิดเพื่อช่วยให้ผู้เรียนจำเรื่องราวที่จะให้เรียนได้ติดต่อกันไปโดยไม่ขาดตอน ข้อมูลต่างๆ เหล่านี้จัดเรียงลำดับไว้เป็นระเบียบต่อเนื่องกัน จากง่ายไปจนถึงยาก
2. ในการเรียนนั้นกำหนดว่า จะต้องให้ผู้เรียนตอบถูกได้มากที่สุด โดยทั่วๆ ไป 1 คำตอบ ใน 1 กรอบ แต่อาจจะเป็น 4-5 คำตอบใน 1 กรอบก็ได้ ผู้เรียนจะต้องเป็นผู้คิดหาคำตอบเอง ตอนแรก ๆ ของบทเรียนจะมีลักษณะชี้แนะช่องทางให้ เพื่อให้ตอบถูก และมีลักษณะที่จะช่วยให้ผู้เรียนสามารถทำความเข้าใจได้ด้วยตนเอง การชี้ช่องทางนี้จะค่อยๆ หายไป
3. บทเรียนแต่ละกรอบจะมีลักษณะ Teach-Test สลับกันไป โดยที่บทเรียนกรอบต้นๆ จะมีลักษณะสอน และกรอบต่อไปเป็นกรอบทดสอบ หรือบางกรอบอาจจะเป็นการทดสอบอย่างเดียว ถ้าเนื้อหานั้นยังเกี่ยวข้องกับเนื้อหาข้างต้น
4. ให้รู้ผลของการกระทำอย่างทันทีทันใดว่าคำตอบนั้นถูกหรือผิด ซึ่งถือว่าเป็นการเสริมแรง
(Reinforcement ) เพราะถือว่าการรู้ผลการเรียนจะช่วยให้การเรียนดีขึ้น

Programmed Instruction แบบเส้นตรงจึงเป็นบทเรียนที่จัดทำขึ้น เพื่อให้ผู้เรียนได้เรียนหรือกระทำการตอบสนองต่อบทเรียนเหมือนกันทุกคน และผู้เรียนจะต่อศึกษาไปตามกรอบของเนื้อหาที่กำหนด โปรแกรมจะถูกจัดเรียงตามลำดับเพื่อให้ผู้เรียนได้เรียนตามลำดับขั้นตอน จากเนื้อหาที่ง่ายไปสู่เนื้อหาที่ยากจนกระทั่งจบบทเรียน ผู้เรียนได้เรียนรู้ตามความสามารถของตนเอง ไม่จำกัดเวลา และผู้เรียนต้องทราบผลการเรียนรู้ของตนเองอย่างทันที ซึ่งถือเป็นการเสริมแรงอย่างหนึ่ง ดังนั้นการจัดทำบทเรียนจึงต้องมีความสมบูรณ์มากที่สุด โดยจะต้องคำนึงถึงหลักจิตวิทยาการเรียนรู้มาประกอบในการพัฒนาบทเรียนเป็นประการสำคัญด้วย


บุญเกื้อ ควรหาเวช (2530: 41-42) ได้กล่าวถึงข้อควรคำนึงในการสร้าง Programmed Instructionแบบเส้นตรงดังนี้
1. ควรวางแผนในการผลิตด้วยความรอบคอบ วัตถุประสงค์ต้องชัดเจน องค์ประกอบอื่นๆ ต้องสัมพันธ์กับวัตถุประสงค์ของบทเรียน
2. ควรแสดงโครงสร้างหรือขอบข่ายของบทเรียนให้ผู้เรียนทราบในตอนต้น
3. เนื้อหาย่อยๆ ในแต่ละหน่วยย่อมทำให้เกิดความรู้ความเข้าใจในหน่วยถัดไป
4. เนื้อหาแต่ละหน่วยควรเหมาะสมกับช่วงความสนใจของผู้เรียน ถ้าเนื้อหายาวเกินไปควรแบ่งเป็นตอนๆ หรือให้มีการพักระหว่างกรอบโดยขั้นด้วยนิทาน หรือเกมส์ เป็นต้น
5. เนื้อหาซึ่งเป็นสิ่งเร้าและสิ่งที่จะให้ผู้เรียนตอบสนองนั้นควรสัมพันธ์กัน
6. ระหว่างกรอบควรมีความต่อเนื่อง ถ้าตอบผิดต้องมีการชี้แนะและซ่อมเสริม
7. กรอบหนึ่งๆควรมีเนื้อหาเพียงความคิดเดียว
8. ช่วยให้ผู้เรียนเกิดผลสัมฤทธิ์มากที่สุด
9. มีการชี้แนวทางหรือแนะให้ผู้เรียนตอบคำถามได้อย่างถูกต้องเหมาะสม
10. มีคำตอบที่ถูกต้องให้ผู้เรียนทราบได้ทันที เพื่อเป็นการเสริมแรงให้อยากเรียนต่อ
11. ภาษาและคำศัพท์ที่ใช้ควรชัดเจนเหมาะสมกับพื้นฐานของผู้เรียน
12. การใช้รูปภาพจะช่วยให้บทเรียนน่าสนใจ ควรมีความสัมพันธ์กับเนื้อหาวิชา
13. สร้างรูปเล่มให้สวยงามสะดุดตาผู้เรียน

Programmed Instruction แบบสาขา (Branching Programmed or Intrinsic Programmed)
Programmed Instructionแบบสาขาเป็นผลจากการค้นคว้าทดลองของ โครว์เดอร์ (Norman Crowder) แห่งมหาวิทยาลัยชิคาโก มีความเชื่อว่าการเรียนรู้โดยการใช้ Programmed Instruction นี้ ถ้าผู้เรียนตอบสนองผิดเขาควรได้รับการแก้ไขหรืออธิบายเพิ่มเติม เพื่อให้เข้าใจได้อย่างถูกต้อง (สันทัด ภิบาลสุข. 2522:58) เป็นบทเรียนที่ผู้เรียนสามารถเลือกคำตอบได้หลายทางโดยอาศัยกรอบยืนเป็นหลัก ทางเลือกเหล่านี้นั้นเป็นกรอบสาขาที่ช่วยชี้ให้ผู้ตอบทราบเหตุผลของการตอบ (ประหยัด จิระวรพงษ์. 2522: 226) บทเรียนชนิดนี้จะมีประโยขน์มากสำหรับผู้ที่เรียนเก่งจะสามารถเรียนจบได้เร็ว ส่วนผู้ที่เรียนช้าหรือเรียนอ่อนก็สามารถเรียนจบได้เช่นเดียวกัน เพียงแต่จะต้องใช้เวลาเรียนมากกว่า (สุนันท์ ปัทมาคม. 2530: 53) การเขียน Programmed Instruction แบบสาขาต้องเขียนเนื้อหาให้ชัดเจนและตัวเนื้อหาจะต้องเหมาะสม การเขียน Programmed Instruction แบบสาขาต้องเขียนเนื้อหาในลักษณะที่จบในตัวเอง และเสนอเนื้อหา แนวความคิด และขยายความรู้ให้ชัดเจนที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยจะต้องมีการเฉลยคำตอบในอีกหน้าหนึ่งแยกต่างหาก (เสาวณีย์ สิกขาบัณฑิต. 2528 : 281)


คุณค่าและข้อจำกัดของProgrammed Instruction
แม้ว่า Programmed Instruction จะมีคุณค่าทางการเรียนรู้เป็นที่ยอมรับกันทั่วไป แต่
Programmed Instruction ก็ยังมีข้อจำกัดที่จะต้องศึกษาและทำความเข้าใจ ซึ่งมีนักการศึกษาหลายท่านได้กล่าวไว้ ดังนี้
ฉลองชัย สุรวัฒนบูรณ์ ( 2528 : 342 – 343 ) กล่าวถึงคุณค่าและข้อจำกัดของ Programmed Instruction ไว้ดังนี้
คุณค่าของ Programmed Instruction
1. การสร้าง Programmed Instruction มีกระบวนการที่น่าเชื่อถือ ทำให้ผู้เรียนได้เรียนรู้
อย่างอิสระและสามารถดำเนินการตามความสามารถและจังหวะเวลา
2. ทำให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ด้วยตนเองและมีส่วนร่วมในการเรียน โดยการแสดงปฏิกิริยาในการตอบสนองต่อสิ่งเร้าหรือคำถาม และได้ทราบคำตอบว่าถูกหรือผิดอย่างทันที เป็นการให้รางวัลที่ดี กระตุ้นให้ผู้เรียนต้องการที่จะเรียนรู้
ข้อจำกัดของ Programmed Instruction
1. Programmed Instruction มักจะเน้นหนักในเรื่องเนื้อหา ทำให้ขาดในด้านความรู้สึก หรือ
อารมณ์ และความคิดเห็นส่วนตัว
2. Programmed Instruction แบบเส้นตรงไม่เหมาะสมกับผู้เรียนที่เรียนเก่ง เพราะผู้ที่เรียน
เก่งเมื่อทำกิจกรรมได้เสร็จก่อนและไม่มีอะไรทำอีก อาจจะทำให้เบื่อหน่ายจะต้องมีงานเพิ่มเติมให้บ่อยๆ
3. ไม่อาจใช้แทนผู้สอนได้ทุกอย่าง เพราะบางบทเรียนต้องให้คำแนะนำอยู่บ้าง
4. ในการจัดทำต้องการผู้มีความรู้ความสามารถ และต้องการเวลาในการเขียนโปรแกรมและการทดลองภาคสนาม และไม่อาจใช้ได้บางภูมิภาคหรือบางท้องถิ่นเพราะขาดบุคลากรในการอำนวยความสะดวก

ประหยัด จิระวรพงษ์ (2522 : 228) ได้กล่าวถึงคุณค่าและข้อจำกัดของ Programmed Instructionไว้ดังนี้คือ
คุณค่าของ Programmed Instruction
1. สามารถส่งเสริมความแตกต่างระหว่างบุคคลได้ดี
2. ช่วยประหยัดเวลาในการสอน
3. เปิดโอกาสให้ผู้เรียนเรียนรู้ด้วยตัวเอง
ข้อจำกัดของ Programmed Instruction
1. Programmed Instruction อาจไม่ตอบสนองจุดหมายได้ทุกประการ
2. ผู้เรียนอาจเบื่อหน่ายจากการปฏิบัติซ้ำมาก ๆ
3. ผู้เรียนไม่สามารถแสดงความคิดเห็นหรือวิพากษ์วิจารณ์ เพราะถูกจำกัดการตอบสนอง

เปรื่อง กุมุท (2527 : 6) กล่าวว่า Programmed Instruction สร้างขึ้นจากรากฐานจิตวิทยาการเรียนรู้ทำให้เกิดระบบวิธีเรียนแบบเอกัตบุคคล ( Individual Difference) หรือตัวต่อ ย่อมให้คุณค่าทางการเรียนรู้หลายประการ คือ
1. ทำให้เรียนรู้ได้ดี และเรียนได้ด้วยตนเอง
2. ทำให้แต่ละคนเรียนได้เร็ว-ช้าตามความสามารถของตนเอง
3. จะเรียนที่ไหน เมื่อไรก็ได้ตามที่ต้องการ คือ มีความสะดวก มีคุณค่าในด้านความเสมอภาค
4. ยกระดับมาตรฐานการเรียน ให้ทัดเทียมกันอย่างทั่วถึง
5. มีการจัดลำดับเนื้อหาและผู้เรียนได้รับการตอบสนองขณะที่เรียน
ไชยยศ เรืองสุวรรณ (2521 : 177–178) กล่าวถึง คุณค่าและข้อจำกัดของ Programmed Instruction ดังนี้
คุณค่าของProgrammed Instruction
1. ผู้เรียนมีโอกาสเรียนด้วยตนเอง และดำเนินไปตามความสามารถของตน
2. กระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดความกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้
3. สนองตอบในเรื่องความสามารถและความแตกต่างระหว่างบุคคล
4. เป็นการประหยัดเวลาในการสอนบทเรียนหนึ่ง ๆ เพราะจากผลการวิจัยพบว่า Programmed Instruction สามารถสอนเนื้อหาได้มากเท่าวิธีสอนอื่นๆ โดยใช้เวลาน้อยลง
5. ช่วยให้ผู้เรียนเกิดนิสัยมีความรับผิดชอบในตัวเองได้เป็นอย่างดี
ข้อจำกัดของ Programmed Instruction
1. ไม่อาจทำให้ผู้เรียนเกิดความเข้าใจได้ทั้งหมด เพราะบางเรื่องผู้เรียนยังต้องการคำแนะนำจากผู้สอน
2. ไม่สามารถใช้กับเนื้อหาบางวิชาได้ เช่น วิชาที่ต้องการการสนองตอบในแง่ของความคิด
3. ผู้เรียนที่เรียนเก่งอาจทำบทเรียนได้เสร็จก่อน ทำให้เกิดความเบื่อหน่าย
จากที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่า Programmed Instruction ถูกพัฒนาขึ้นมาตามหลักการพื้นฐานทางจิตวิทยาการเรียนรู้ ซึ่งถือว่าเป็นกระบวนการที่อาศัยหลักการทางวิทยาศาสตร์ จึงทำให้Programmed Instruction เป็นเครื่องมือที่เป็นประโยชน์ในทางการศึกษา ช่วยให้เกิดการเรียนรู้ดีขึ้นแต่อย่างไรก็ตามProgrammed Instruction ก็ยังมีข้อจำกัดที่ต้องทำการศึกษาและทำความเข้าใจ เพื่อจะได้นำมาเป็นแนวทางในการจัดทำและนำ Programmed Instruction ไปใช้ให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด การศึกษาวิจัยผลการใช้นวัตกรรม Programmed Instruction จึงเป็นแนวทางที่จะช่วยลดปัญหาและข้อจำกัดดังกล่าว

การสร้าง Programmed Instruction
การสร้าง Programmed Instruction มีขั้นตอนทั้งการสร้างและการหาคุณภาพ ดังต่อไปนี้
ประหยัด จิระวรพงศ์ (2522 : 227–228) กล่าวว่าการสร้างProgrammed Instruction แบ่งออกเป็น 4 ขั้นตอน ดังนี้
ขั้นที่ 1 วางแผนทางวิชาการ (Planning Stage)
1.1 การเลือกเนื้อหาระดับผู้เรียนและแบบ Programmed Instruction ที่จะใช้
1.2 การตั้งจุดมุ่งหมายการเรียน
1.3 การวิเคราะห์เนื้อหาแยกเป็นตอนย่อย ๆ และจัดลำดับ
1.4 การสร้างแบบทดสอบ
ขั้นที่ 2 การดำเนินการเขียนบทเรียน (Development Stage)
2.1 การเขียนกรอบสอน (Teaching Frame)
2.2 การเขียนกรอบฝึกสอน (Practice Frame)
2.3 การเขียนกรอบสรุป (Criterion Frame)
ขั้นที่ 3 การทดลองบทเรียน (Tryout Stage)
3.1 การทดลองเป็นรายบุคคลเพื่อแก้ไขปรับปรุง
3.2 การทดลองเป็นกลุ่มย่อยเพื่อแก้ไขปรับปรุง
3.3 การทดลองเป็นกลุ่มใหญ่เพื่อแก้ไขปรับปรุง
ขั้นที่ 4 การนำไปใช้ (Implementation Stage)
ก่อนที่จะนำบทเรียนไปใช้จะต้องมีการแก้ไขปรับปรุงจากการทดลองเป็นกลุ่มใหญ่แล้วเห็นว่าน่าเชื่อถือได้ โดยทั่วไปแล้วใช้เกณฑ์มาตรฐาน 90/90 ซึ่งหมายความว่า ผู้เรียนด้วยบทเรียนนี้สามารถตอบสนองถูกทั้งหมดร้อยละ 90 และร้อยละ 90 ตอบสนองแต่ละตอนได้อย่างถูกต้อง
เปรื่อง กุมุท (2519 : 139) กล่าวว่า การสร้าง Programmed Instruction จะต้องปฏิบัติตามขั้นตอนต่างๆ ดังนี้
1. ศึกษาหลักสูตร เพื่อให้ทราบว่าบทเรียนจะตอบสนองอะไร มีเนื้อหาอย่างไร ผู้เรียนระดับไหน การจัดทำแผนการเรียนรู้จึงเป็นสิ่งจำเป็นในอันที่จะช่วยให้ทราบถึงลำดับการจัดการเรียนรู้ และช่วยกำหนดขอบข่ายของเนื้อหาได้ นอกจากนี้ผู้สร้างบทเรียนควรศึกษาเอกสาร ตำรา หรือต้องสัมภาษณ์จากผู้รู้ด้วย
2. ตั้งจุดมุ่งหมาย การสร้างบทเรียนโปแกรมต้องสามารถตอบสนองความต้องการของผู้เรียน และเหมาะสมกับความสามารถของผู้เรียน ผู้สร้าง Programmed Instruction ต้องพยายามแจกแจงจุดมุ่งหมายเชิงพฤติกรรม ซึ่งจะต้องสังเกตและวัดได้
3. วางขอบเขตของงาน การวางขอบเขตของงานหรือวางเค้าโครงเรื่อง มีประโยชน์ในการสร้างบทเรียนมากเพราะช่วยในการลำดับเรื่องราวก่อนหลัง และป้องกันการหลงลืมเรื่องราวบางตอน
4. เขียน Programmed Instruction
ชม ภูมิภาค ( 2524 : 120 – 121 ) ได้กล่าวถึงขั้นตอนในการสร้าง Programmed Instruction ไว้ดังนี้ ในการสร้าง Programmed Instruction มีอยู่ 3 ขั้นตอนใหญ่ ๆ คือ ขั้นเตรียมการ ขั้นการเขียน Programmed Instruction ขั้นทดลอง และขั้นปรับปรุงแก้ไข
1. ขั้นเตรียม แบ่งออกเป็น 5 ขั้น คือ
1.1 เลือกชื่อเรื่องโดยเลือกในเนื้อหาวิชาที่ผู้เขียนมีความรู้ในเรื่องนั้นดี
1.2 เตรียมเค้าโครงของเนื้อหา โดยให้ครอบคลุมเนื้อหาทั้งหมดที่จะสอน ผู้สร้างโปรแกรมต้องสามารถรวมความรู้ในเนื้อหาวิชาเข้ากับความรู้ในวิธีการสอนด้วยโปรแกรมได้เป็นอย่างดี
1.3 กำหนดวัตถุประสงค์เชิงพฤติกรรม
1.4 สร้างแบบทดสอบสำหรับวัดพฤติกรรมเบื้องต้นซึ่งคะแนนของแบบทดสอบจะบอกให้รู้ว่าควรจะเริ่มพฤติกรรมที่ใด แบบทดสอบนี้ควรมีหลาย ๆ คำถาม เพื่อให้แน่ใจว่าผู้เรียนไม่สามารถเดาคำตอบได้
1.5 สร้างแบบทดสอบสำหรับวัดพฤติกรรมขั้นสุดท้าย เพื่อจะได้ทราบว่าผู้เรียนได้รับความรู้จาก Programmed Instruction แล้ว
2. ขั้นการเขียน Programmed Instruction
หลังจากได้โครงร่างของเนื้อหาและวัตถุประสงค์เชิงพฤติกรรมเบื้องต้น รวมทั้งกำหนดพฤติกรรมขั้นสุดท้ายแล้ว ก็จะได้แนวทางพื้นฐานที่จะนำมาใช้เป็นProgrammed Instruction โดยแยกออกเป็น 5 ขั้นตอน ดังนี้
2.1 เสนอเนื้อหาในรูปกรอบต่าง ๆ โดยกรอบหนึ่งๆ ก็คือเนื้อหาวิชาย่อยๆ ซึ่งจะให้ผู้เรียนสนองตอบสิ่งเร้าในขั้นต่างๆ ที่ผู้เขียน Programmed Instruction สร้างขึ้น เพื่อนำผู้เรียนไปถึงพฤติกรรมขั้นสุดท้าย โดยอาศัยหลักความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งเร้ากับการตอบสนอง (S-R)
2.2 ให้ผู้เรียนตอบสนองอย่างแข็งขัน โดยถือหลักว่าผู้เรียนจะยอมรับในเนื้อหาที่ตอบถูกเท่านั้น ทำให้มีแบบการตอบสนองต่างๆ
2.3 มีการยืนยันหรือตรวจแก้การตอบสนองของผู้เรียน Programmed Instruction จะมีการเปรียบเทียบค่าคำตอบที่ถูกกับคำตอบที่ผิด เมื่อผู้เรียนพบว่าการตอบสนองนั้นถูกจะได้รับการยืนยัน แต่ถ้าการตอบสนองผิดก็จะได้รับคำตอบที่ถูกต้อง
2.4 มีการใช้วิธีการปูพื้นเพื่อเป็นแนวทางในการสนองตอบของผู้เรียน ซึ่งการปูพื้นนี้เป็นเครื่องชี้ในกรอบต่าง ๆ ของโปรแกรมเพื่อนำผู้เรียนไปสู่การตอบสนองที่ถูกต้อง
2.5 จัดลำดับขั้นของกรอบต่าง ๆ อย่างระมัดระวัง ซึ่งขึ้นอยู่กับ 2 องค์ประกอบคือ
1) คำจำกัดความ และการวิเคราะห์พฤติกรรมที่โปรแกรมต้องการสอน และ
2) ภาวะการเรียนรู้ที่จำเป็น ได้แก่ การแยกแยะ การสรุป การเกิดขึ้นพร้อมกันระหว่างสิ่งเร้ากับการตอบสนอง และการเสริมแรง
3. ขั้นการทดลองแก้ไข แบ่งย่อยอีกได้ 3 ขั้นตอน คือ
3.1 ขั้นการทำฉบับร่างจากต้นฉบับ (Write the Original Draft) ซึ่งอาจทำเป็นแผ่นๆ เพื่อให้ผู้เรียนอ่านด้านหน้า และตอบสนองด้านหลัง ในขั้นนี้เป็นการนำโปรแกรมไปทดลองกับผู้เรียนคนเดียวในช่วงเวลาหนึ่ง แล้วนำมาปรับปรุง เพื่อนำไปทดลองกับผู้เรียนคนถัดไป
3.2 แก้ไขฉบับร่าง เป็นการนำฉบับร่างจากต้นฉบับมาปรับปรุงแก้ไขในแง่มุมต่างๆ เพื่อให้ได้โปรแกรมที่ดีออกมา
3.3 ทดลองฉบับร่างที่แก้ไขแล้ว และพิจารณาแก้ไขอีกครั้ง แล้ว นำไปทดสอบกับผู้เรียนจำนวน 15-40 หรือมากกว่า แล้วนำมาปรับปรุงอีกครั้ง โดยถือเกณฑ์มาตรฐานให้มีอัตราความผิดพลาดเพียง 10 เปอร์เซ็นต์ จึงสามารถนำไปใช้ได้
ดังนั้น การสร้าง Programmed Instruction ให้มีประสิทธิภาพจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการวางแผนการจัดทำแต่ละขั้นตอนให้ชัดเจนและรัดกุม เริ่มตั้งแต่การวิเคราะห์เนื้อหา วิเคราะห์ผู้เรียน
การกำหนดวัตถุประสงค์เชิงพฤติกรรม การศึกษารูปแบบการเขียนProgrammed Instructionให้เข้าใจ และก่อนที่จะมีการนำเอา Programmed Instructionไปใช้จริงนั้น จะต้องผ่านกระบวนการหาประสิทธิภาพของบทเรียนให้ได้เกณฑ์มาตรฐานก่อน เพื่อให้ได้บทเรียนที่มีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ได้เป็นอย่างดีผู้วิจัยได้นำนวัตกรรม Programmed Instruction มาใช้ในการพัฒนาสมรรถนะครูด้านการวิจัยเพื่อพัฒนาการเรียนการสอน โดยกำหนดขั้นตอน ดังนี้
ขั้นตอนที่ 1 ขั้นเตรียม
เป็นขั้นตอนที่ดำเนินการโดยผู้วิจัย เริ่มต้นด้วยการวิเคราะห์หลักสูตร จุดประสงค์การเรียนรู้ ขอบข่ายเนื้อหาสาระ จากนั้นจึงวางแผนสร้าง Programmed Instruction ซึ่งประกอบด้วยการเลือกเนื้อหาของบทเรียน กำหนดจุดประสงค์การเรียนรู้หรือจุดประสงค์เชิงพฤติกรรม วิเคราะห์เนื้อหาแยกเป็นตอน ๆ เรียงลำดับจากง่ายไปหายาก แล้วสร้างแบบทดสอบให้สอดคล้องกับจุดประสงค์ที่กำหนดไว้ เสร็จสิ้นจากการวางแผนแล้วจึงเริ่มเขียนProgrammed Instruction โดยเขียนกรอบสอน (Teaching frame) กรอบฝึกสอน (Practice frame) และกรอบสรุป (Criterion frame) สุดท้าย คือ การทดลองบทเรียน ได้แก่ การทดลองเป็นรายบุคคล ทดลองเป็นกลุ่มย่อย และทดลองเป็นกลุ่มใหญ่
ขั้นตอนที่ 2 ขั้นการเรียนรู้
2.1 ทดสอบครูที่เป็นกลุ่มเป้าหมายในการพัฒนา (Pretest)
2.2 ผู้วิจัยแนะนำวิธีการเรียนรู้โดยใช้ Programmed Instruction เพื่อให้ครูทุกคนเข้าใจและปฏิบัติตามกติกาอย่างถูกต้อง เคร่งครัด และซื่อสัตย์
2.3 แจก Programmed Instruction ให้ครูเรียนรู้ด้วยตนเองอย่างอิสระโดยไม่จำกัดเวลาและไม่จำเป็นต้องเรียนรู้ไปพร้อมๆ กัน เนื่องจากครูที่มีความสามารถต่างกันอาจใช้เวลาในการเรียนรู้มากน้อยแตกต่างกันได้
ขั้นตอนที่ 3 ขั้นทดสอบและสรุปผลการเรียนรู้
3.1 หลังจากที่ครูเรียนรู้ด้วยตนเองโดยใช้บทเรียนโปรแกรมแล้ว ผู้วิจัยให้ทำแบบทดสอบหลังการเรียน (Posttest)
3.2 ครูและผู้วิจัยช่วยกันสรุปผลการเรียนรู้
ขั้นตอนการพัฒนาสมรรถนะครูด้านการวิจัยเพื่อพัฒนาการเรียนการสอนโดยใช้นวัตกรรม Programmed Instruction แสดงให้เห็นในแผนภูมิต่อไปนี้


ขั้นตอนที่ 1 ขั้นเตรียม: วางแผนวิชาการ สร้าง Programmed Instruction
ทดลองใช้ Programmed Instruction



ขั้นตอนที่ 2 ขั้นการเรียนรู้: ทดสอบก่อนการพัฒนาโดยใช้นวัตกรรม Programmed Instruction



ขั้นตอนที่ 3 ขั้นทดสอบและสรุปผลการพัฒนาฯ



แผนภูมิที่ 2

ขั้นตอนการพัฒนาสมรรถนะครูด้านการวิจัยเพื่อพัฒนาการเรียนการสอนโดยใช้ นวัตกรรม Programmed Instruction

งานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับ Programmed Instruction

งานวิจัยในประเทศ
ศักดิ์ณรงค์ แสงพิทักษ์ (2528 : 46) ได้ผลิตรายการโทรทัศน์ประกอบการสอนแบบ Programmed Instruction เรื่องน้ำเสีย สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 เพื่อเปรียบเทียบกับการสอนปกติ ผลการวิจัยพบว่า กลุ่มที่เรียนจากการสอนโดยโปรแกรมวิดีทัศน์ มีผลสัมฤิทธิ์ทางการเรียนรู้สูงกว่ากลุ่มควบคุมที่เรียนรู้จากการสอนแบบปกติอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.01
ปริญญา ปัญญามี ( 2531 : 90 ) ได้ทำการศึกษาเพื่อเปรียบเทียบผลการเรียนรู้และความคงทนในการจำของนักเรียนที่เรียนจาก Programmed Instruction ธรรมดา และProgrammed Instruction เทปโทรทัศน์ โดยใช้กลุ่มตัวอย่างนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 จำนวน 60 คน โดยการสุ่มอย่างง่าย แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มทดลองเรียนจาก Programmed Instruction เทปโทรทัศน์ ส่วนกลุ่มควบคุมเรียนจากProgrammed Instruction ธรรมดา จากนั้นอีก 2 สัปดาห์ ให้นักเรียนทั้งสองกลุ่มทำแบบทดสอบฉบับเดิมอีกครั้ง ผลการวิจัยพบว่า ผลการเรียนรู้และความคงทนในการจำของนักเรียนที่เรียนจากProgrammed Instruction เทปโทรทัศน์ สูงกว่านักเรียนที่เรียนจากโปรแกรมธรรมดา อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05
ณรงค์ เดิมสันเทียะ (2535 : 37) ศึกษาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและความคงทนในการเรียน และแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ในวิชาคณิตศาสตร์ของนักเรียนชั้นมัธยมปีที่ 4 โดยใช้ Programmed Instructionเรียนเป็นคณะ มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ความอดทนในการเรียน และแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์สูงกว่านักเรียนที่เรียนจากการสอนตามคู่มือครูของ สสวท.
สมบัติ เทียบอุดม ( 2538 : 63 ) ได้เปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนระหว่างนักเรียนที่เรียนจากวิดีทัศน์การสอนแบบโปรแกรม กับการเรียนวิดีทัศน์การสอนปกติ โดยใช้กลุ่มตัวอย่างเป็นนักเรียนชั้นประถมศึกษาปี่ที่ 5 จำนวน 60 คน โดยการสุ่มอย่างง่าย แบ่งนักเรียนเป็นสองกลุ่ม กลุ่มแรกเรียนรู้จากวิดีทัศน์การสอนแบบโปรแกรม กลุ่มที่สองเรียนจากวิดีทัศน์การสอนแบบปกติ ผลการวิจัยพบว่านักเรียนที่เรียนโดยใช้วิดีทัศน์การสอนแบบ Programmed Instruction ให้ผลการเรียนสูงกว่านักเรียนที่เรียนจากวิดีทัศน์การสอนแบบปกติอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.01
พงศ์พันธ์ อันตริกานนท์ (2539: 69) ได้ทำการพัฒนาบทเรียนวิดีทัศน์แบบโปรแกรมสำหรับการฝึกอบรมบุคลากรสาธารณสุข ในการเขียนบทวิดีทัศน์เบื้องต้น ผลปรากฏว่าการใช้บทเรียนวิดีทัศน์ด้วยตนเองส่งผลให้ผู้เข้ารับการอบรมมีความรู้เพิ่มขึ้น กล่าวคือ คะแนนหลังการอบรมสูงกว่าก่อนการอบรมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.01
อัมพร น้อยสุวรรณ (2540 : บทคัดย่อ) ศึกษาผลการใช้วิดีทัศน์แบบโปรแกรม กิจกรรม
นาฏศิลป์กับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 เพื่อหาประสิทธิภาพของบทเรียน และผลสัมฤทธิ์ในการเรียน ผลการศึกษาพบว่า รายการวิดีทัศน์แบบโปรแกรมมีประสิทธิภาพสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐาน 90/90 และผลสัมฤทธิ์ในการเรียนรู้ของนักเรียนจากรายการวิดีทัศน์แบบโปรแกรม สูงกว่านักเรียนที่เรียนจาการสอนปกติ อย่างมีนัยทางสถิติที่ระดับ 0.01
พรพิชิต สุวรรณศิริ (2543:บทคัดย่อ) ได้พัฒนาบทเรียนวิดีทัศน์แบบโปรแกรมวิชาพยาบาลพื้นฐาน 2 สำหรับนักเรียนพยาบาลระดับต้นปีที่ 1 โรงเรียนพยาบาล กรมแพทย์ทหารเรือ พบว่าการใช้บทเรียนวิดีทัศน์แบบโปรแกรมที่พัฒนาขึ้นมีประสิทธิภาพ 91.64/90.67 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้ คือ 90/90 และผู้เรียนมีความรู้เพิ่มขึ้น กล่าวคือ คะแนนหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.01งานวิจัยในต่างประเทศ
อีสเตอร์เดย์ (Easterday. 1963: 307) ได้ทดลองสอนวิชาพีชคณิตโดยใช้ Programmed Instructionกับการสอนปกติกับนักเรียนเกรด 9 พบว่านักเรียนกลุ่มที่เรียนจาก Programmed Instruction มีผลสัมฤทธิ์สูงกว่ากลุ่มที่เรียนตามปกติ
ดัทตัน (Dutton. 1963: 2882-A) ได้ศึกษาเปรียบเทียบการสอนวิชาวิทยาศาสตร์กับนักเรียนเกรด 4 เรื่อง แสง เสียง และความร้อน กลุ่มตัวอย่างจำนวน 111 คน แบ่งออกเป็นกลุ่มทดลองสอนด้วยProgrammed Instruction และกลุ่มควบคุมสอนตามปกติ ใช้เวลา 5 สัปดาห์ พบว่า กลุ่มทดลองมีผลสัมฤทธิ์สูงกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ
แบงฮาร์ท และคนอื่น ๆ (Bankhart and others. 1963: 199-204) ได้เปรียบเทียบการสอนวิทยาศาสตร์สำหรับนักเรียนเกรด 4 จำนวน 159 คน ให้นักเรียนกลุ่มทดลองเรียนโดย Programmed Instruction ส่วนกลุ่มควบคุมเรียนโดยแบบเรียนมาตรฐาน ผลปรากฎว่านักเรียนกลุ่มทดลองมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงกว่ากลุ่มควบคุม
ฟิชเชลล์ (Fishell. 1964: 2881-A) เปรียบเทียบการสอนโดยใช้ Programmed Instruction กับการสอนแบบปกติในวิชาคณิศาสตร์และสังคมวิทยา ผลพบว่าการสอนแบบ Programmed Instruction ให้ผลสัมฤทธิ์สูงกว่าการสอนแบบปกติ
บราวน์ (Brown. 1964: 26) ได้เปรียบเทียบการสอนโดยใช้ Programmed Instruction กับการสอนตามปกติสำหรับนักเรียนเกรด 8 และ 9 ที่เป็นกลุ่มตัวอย่างจากโรงเรียน 7 แห่ง ผลการวิจัยพบว่านักเรียนกลุ่มที่สอนโดยใช้ Programmed Instruction มีผลสัมฤทธิ์สูงกว่านักเรียนที่เรียนตามปกติ
โมเสส (Moses. 1965 : 5739 – A ) ได้ศึกษาเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนในวิชาพืชคณิตระดับอุดมศึกษาปีที่ 1 โดยใช้ Programmed Instruction กับการสอนปกติ ปรากฏว่ากลุ่มทดลองมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ และพบว่านักเรียนที่เรียนอ่อนไม่สามารถเรียนโดยใช้ Programmed Instructionได้ดี
ริกส์ (Riggs. 1967: 2748-A) ทดลองสอนเรื่องกราฟกับนักเรียนเกรด 5 โดยใช้Programmed Instruction กับการสอนปกติ ปรากฏว่ากลุ่มทดลองมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ
ฟรานซิส (Francis. 1967: 338-A) ศึกษาเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ เรื่อง กฎของโอห์มและกำลังไฟฟ้าของวงจรกระแสตรง โดยแบ่งกลุ่มตัวอย่างซึ่งเป็นนักศึกษาในมหาวิทยาลัยออกเป็น 2 กลุ่ม ๆ ละ 30 คน กลุ่มทดลองสอนโดยใช้Programmed Instruction กลุ่มควบคุมสอนโดยการบรรยายประกอบการสาธิต ผลการวิจัยไม่พบความแตกต่างของผลสัมฤทธิ์ของวิธีสอนทั้งสองวิธี
คอลลาแกน . (Collagan. 1969: 1070-A) สร้างProgrammed Instructionวิชาวิทยาศาสตร์สำหรับสอนนักศึกษาระดับวิทยาลัยชั้นปีที่ 1 เปรียบเทียบกับการสอนตามปกติ ปรากฏว่ากลุ่มทดลองมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ
มอริเบอร์ . (Moriber. 1969: 214-216) เปรียบเทียบการสอนวิชาวิทยาศาสตร์ เรื่อง ทฤษฎีอะตอมและพันธเคมี โดยใช้Programmed Instructionและสอนตามปกติ พบว่านักศึกษาที่เรียนโดยProgrammed Instructionซึ่งเป็นกลุ่มทดลองมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงกว่านักศึกษาที่เรียนตามปกติซึ่งเป็นกลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ
ไวท์ . (White. 1970: 3373-A) สร้างProgrammed Instructionวิชาพีชคณิตเพื่อใช้กับนักศึกษากลุ่มทดลอง ส่วนนักศึกษากลุ่มควบคุมสอนตามปกติ พบว่ากลุ่มทดลองมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ
เพียช ( Pierce. 1970 : 4692 – A ) ได้เปรียบเทียบการสอน 3 แบบ คือการสอนแบบปกติ การสอนแบบโปรแกรม และการสอนแบบที่ใช้โปรแกรมโสตทัศน์วัสดุ ในการสอนคณิตศาสตร์ สำหรับนักเรียนที่เรียนอ่อน พบว่า นักเรียนที่มีความสามารถในการอ่านสูงมีผลสัมฤทธิ์ในการเรียนสูงกว่านักเรียนที่ผลสัมฤทธิ์ในการอ่านต่ำ ไม่ว่าจะสอนด้วยวิธีการใดใน 3 วิธี ส่วนนักเรียนที่มีความสามารถในการอ่านต่ำ จะมีผลสัมฤทธิ์ในการเรียนรู้สูงเมื่อสอนโดยใช้Programmed Instructionโสตทัศนวัสดุ วิธีสอนแบบปกติช่วยให้นักเรียนประสบความสำเร็จในการเรียนระยะแรกๆ ดีที่สุด
เทย์เลอร์ (Taylor. 1970: 3843-A) ทำการวิจัยผลการสอนโดยใช้ Programmed Instruction ใช้สื่อสำเร็จรูปแบบผสม และใช้การบรรยาย ผลการวิจัยพบว่าการสอนโดยใช้สื่อสำเร็จรูปแบบผสมให้ผลสัมฤทธิ์ในการเรียนได้ดีกว่าวิธีอื่น
เบค (Beck. 1971: 6270-A) เปรียบเทียบผลการสอนพีชคณิตระดับวิทยาลัยโดยวิธีสอน 3 แบบ คือ การสอนตามปกติ การสอนโดยใช้ Programmed Instruction และการสอนโดยใช้สื่อสำเร็จรูปผสม ผลการวิจัยพบว่า ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของกลุ่มที่เรียนจากการสอนแบบปกติและจากการสอนแบบสื่อสำเร็จรูปผสมไม่แตกต่างกัน แต่สูงกว่าผลสัมฤทธิ์ของกลุ่มที่เรียนโดยใช้ Programmed Instruction
วิลเลี่ยมส์ (Williams. 1972: 2700-A) ได้ทดลองเปรียบเทียบวิธีสอน 3 วิธี คือ วิธีสอนแบบปกติ แบบโปรแกรม และแบบสื่อสำเร็จรูปสไลด์ ในวิชาคณิตศาสตร์ธุรกิจ พบว่าผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนแบบโปรแกรม และแบบสื่อสำเร็จรูปสไลด์สูงกว่าการสอนแบบปกติ
เกอร์เบอร์ (Gerber. 1974: 1908 – A) ได้ทำวิจัยผลการสอน เรื่องการวินิจฉัยทางตรรกศาสตร์ที่มีความสามารถในการเรียนพิสูจน์ของนักเรียนระดับวิทยาลัย โดยใช้ Programmed Instruction กับการสอนปกติ พบว่านักศึกษาที่เรียนจาก Programmed Instruction ไม่ว่าจะมีความสามารถสูงหรือต่ำสามารถเขียนพิสูจน์ได้ดีขึ้นกว่าเดิม และดีกว่านักศึกษาที่เรียนตามปกติ
กล่าวได้ว่า Programmed Instruction เป็นนวัตกรรมทางการศึกษาที่ช่วยพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนได้อย่างมีนัยสำคัญ ด้วยเหตุนี้ ผู้วิจัยจึงได้นำแนวคิดในการจัดการเรียนรู้โดยใช้นวัตกรรมProgrammed Instruction มาทดลองใช้สำหรับการพัฒนาสมรรถนะครูด้านการวิจัยเพื่อพัฒนาการเรียนการสอน โดยคาดหวังว่าผลการศึกษาทดลองจะนำไปใช้พัฒนารูปแบบการพัฒนาสมรรถนะครูด้านการวิจัยเพื่อพัฒนาการเรียนการสอนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น




เอกสารอ้างอิง
http://gotoknow.org/blog/art-for-edtech/188053

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น